อินเดียไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เราขอนำเสนอความน่าสนใจในคัลเจอร์ความดิบของ ‘พาราณสี’ เฉดสีของอารยธรรม เมืองที่ไม่เคยร้างผู้คนมากว่า 4,000 ปี ไปถ่ายรูปคู่แบบชิค ๆ กับคนรู้ใจ เดินลัดเลาะตามตรอกออกตามซอย กินสตรีทฟู้ดนานาชนิด นอนโฮสเทลสุดคูล เดินไม่ถึง 5 นาทีก็เห็นวิวแม่น้ำคงคา แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ผู้หล่อเลี้ยงชีวิตและศรัทธาของชาวฮินดู
ทริปนี้เราเลือกบินตรงกับไทยสมายล์ บินไฟลท์บ่าย ไม่ต้องตื่นเช้า ไม่ต้องอดนอนบนเครื่อง ไปถึงเย็นเรียกรถไปที่พักได้เลย ที่สำคัญคือ Full Service ราคารวมทุกอย่าง สามารถเลือกที่นั่งได้ เบาะที่นั่งกว้าง นั่งสบาย ไม่อึดอัด น้ำหนักกระเป๋าก็ฟรี 30 Kg เอาใจขาช้อปสุด ๆ รวมทั้งอาหาร ของว่าง และเครื่องดื่มต่าง ๆ พร้อมทั้งการบริการอันแสนประทับใจ ยิ้มแย้มแจ่มใสของพนักงานตลอดการเดินทาง
อ่อ อย่าลืมทำวีซ่าก่อนมาล่วงหน้าด้วยนะ ตอนนี้เขาลดราคาแล้วด้วยถูกมาก ๆ เริ่มต้นแค่ 760 บาทเอง
เข้าไปขอแบบออนไลน์ง่ายมาก ๆ แค่ 2 วันก็ได้แล้ว เข้าเว็บนี้ได้เลย >> https://indianvisaonline.gov.in/visa/index.html
เรามาถึงสนามบินแห่งพาราณสีราวเกือบ 5 โมงเย็น พลันเรียกแท็กซี่ตรงดิ่งไปในเมือง เพื่อเตรียมไปเก็บของเข้าที่พักของเรา เป็นโฮสเทลที่ตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่า เดินลัดเลาะจากถนนใหญ่เข้าไปแค่ 500 เมตร
Wander Station โรงแรมและโฮสเทลที่ป๊อปปูลาร์ที่สุดในย่านนี้ ที่เราเลือกเพราะอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว สามารถเดินลงไปชมวิวแม่น้ำคงคาได้เลย ที่สำคัญยังรายล้อมไปด้วยร้านอาหาร สตรีทฟู้ดข้างทาง และตลาดเสื้อผ้าเครื่องประดับ และแน่นอนว่าจะต้องแลกมากับความหนาแน่นของประชากรแขก
ถึงแล้ว ที่พักของเรา ข้างนอกกับข้างในต่างกันเหมือนหนังคนละม้วน
เป็นโฮสเทลยอดนิยมของเหล่านักเดินทางทั่วโลก

ท่ามกลางความจอแจและวุ่นวายของการจราจรและผู้คน ดินแดนแห่งนี้กลับมีสเน่ห์อย่างบอกไม่ถูก สายตานับรอยนับพัน หน้าตาถมึงทึงที่จ้องมอง หากเราเข้าใจนี่คือเรื่องปกติ เพราะการแต่งตัว รูปลักษณ์ภายนอกของเราแตกต่างจากเค้า คนอินเดียมีพื้นฐานขี้สงสัย อยากรู้อยากเห็นเป็นทุนเดิม ในอีกด้านที่เราสัมผัสคือความเฟรนด์ลี่คุยเก่ง ชอบมาขอถ่ายรูปเซลฟี่ราวกับเราคือเซเล็ปคนดัง
ภารกิจแรกคือการออกไปตระเวนหาของกินข้างทางแล้วนั่งล้ามล้อ (Auto Rickshaw) เที่ยวรอบ ๆ เมือง
รถสามล้อมาดร็อปเราที่ Assi Ghat ท่าน้ำสุดสายแม่น้ำคงคา ซึ่งตลอดสายจะมีท่าน้ำแบบนี้อยู่มากมาย
โดยคำว่า Ghat แปลว่าท่าน้ำนั่นเอง เราจึงเริ่มการเดินเลาะริมแม่น้ำไปเรื่อย ๆ เราก็จะเจอความเรียลที่น่าค้นหา แวะเที่ยววัดเนปาล วัดฮินดู ป้อมปราการ กำแพงเมือง ฯลฯ หรือจะลองนั่งริกชอว์ (รถตุ๊กตุ๊ก) ซอกแซกไปตามถนนอันแสนหฤหรรษ์อีกสักรอบสองรอบ ก็ได้ฟีลเพลิดเพลินตื่นเต้นไปอีกแบบ

ยิ่งเดินก็ยิ่งเจอมุมถ่ายรูปดี ๆ เพียบเลย
หลังจากนั้นก็มุดตามตรอก ออกตามซอย เดินชมวิถีชีวิต อาคารบ้านเรือน ตามองตาจ้องกัน สัมผัสรอยยิ้มความแปลกที่มีเอกลักษณ์และสีสันแห่งพาราณสี
เดินกันจนถึงเย็นค่ำ ก็ไปหาสตรีทฟู้ดกินและเดินช้อปปิ้งต่อราคาเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับต่าง ๆ ก็บันเทิงมิใช่น้อย มีแต่ของสวย ๆ งาม ๆ สายช้อปบอกเลยว่าเพลินมาก
ร้านนี้ถือเป็นอีกร้านโปรดที่ขายอาหาร Traditional แบบ Vegan (มังสวิรัติ) โดยจะเน้นไปที่ Dosa แป้งเหมือนขนมเบื้องญวน เอาไปทอดแล้วใส่ไส้ต่าง ๆ ที่อยากแนะนำคือไส้ช็อคโกบานาน่า รวมทั้งมีหมี่ผัดข้าวผัด และพิซซ่า ที่มีรสชาติเข้มข้นถูกปากคนไทยอย่างเรามาก
พอกินอิ่ม ช่วงหัวค่ำก็เดินออกไปชมพิธีบูชาไฟ อันเต็มไปด้วยความเข้มขลัง ที่ Dashashwamedh Ghat พิธีกรรมที่จัดขึ้นทุกค่ำคืน อุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยผู้คนนับร้อยพัน
พิธีกรรมอารตี หรือบูชาไฟ มาจากภาษาสันสกฤตคำว่า “Aratrika” หมายถึง แสงสว่างท่ามกลางความมืดมิด ตามตำนานฮินดูกล่าวว่า เทพเจ้าจะรับรู้ถึงการบูชาจากการใช้แสงสว่าง ดังนั้น ผู้ทำพิธีจึงต้องโบกสะบัดตะเกียงเปล่งแสงหน้าเทวรูปหรือบุคคลที่เคารพบูชา โดยจะเวียนตะเกียงสามครั้งในทิศตามเข็มนาฬิกาขณะที่ท่องบทสวดไปด้วย เพื่อให้องค์เทพประทานความสุขและความโชคดีแก่ชีวิต
พอเสร็จพิธี เหล่าประชาชีก็นำกระทงเล็ก ๆ ที่จุดเทียนและโรยด้วยกลีบดอกไม้ กล่าวอธิษฐานแล้วลงลงสู่แม่น้ำคงคาเพื่อความเป็นศิริมงคลกับชีวิต เราจึงขอมีส่วนร่วมซะหน่อย นอกจากพิธีแล้ว เรายังจะได้เห็นเหล่าโยคีและฤๅษีน้อย แต่งตัวมาร่วมงานกันคับคั่ง
เป็นครั้งแรกของเราที่ได้เห็นพิธีกรรมต้นตำรับแบบนี้ รู้สึกถึงความขลังและพลังศรัทธาอันแรงกล้าของคนที่นี่ กาลเวลาไม่สามารถพรากสิ่งเหล่านี้ไปได้จริง ๆ
เช้าวันต่อมา ไฮไลท์สำคัญในทริปก็มาถึง คือการล่องเรือชมพระอาทิตย์ขึ้นที่แม่น้ำคงคา ชมวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบทอดกันมานานนับพันปี ทั้งการลงมาอาบน้ำ ซักผ้า อันเป็นกิจวัตร ชมฝูงนกนับร้อยนับพัน ตลอดจนพบสัจธรรมสุดท้ายของชีวิตกับพิธีกรรมเผาศพริมแม่น้ำอันลือเลื่อง
แต่ก่อนอื่นเราต้องซื้อ Local Tour จากที่พักเสียก่อน ราคาอาจจะสูงกว่าการไปหาเอาตามท่าน้ำ แต่มีความอุ่นใจ ไม่ต้องไปเหนื่อยต่อปากต่อคำแย่งชิงลูกค้ากันข้างล่าง แล้วพนักงานโรงแรมก็เป็นคนขับเรือเองด้วย ที่แรกเขาเลยพาเราไปชมพิธีบูชาไฟตอนเช้าที่ Assi Ghat ก่อนรุ่งสาง ก็จะคล้าย ๆ พิธีกรรมเมื่อคืน แตกต่างแค่ชุดที่ดูเนี้ยบทางการกว่า และเพื่อต้อนรับแสงแรกเพื่อความรุ่งโรจน์ตลอดวัน
อีกสิ่งที่ชอบมากคือ ไจ๋ (Chai) ชานมร้อน ๆ ที่เป็นเครื่องดื่มประจำวัฒนธรรมของอินเดีย รสชาติเข้มข้น
มีเอกลักษณ์ตรงที่เขาใช้ถ้วยดินเผาเป็นภาชนะ และใส่ขิงลงไปเพื่อความหอมและชุ่มคอนั่นเอง
ชมพิธีกรรมเสร็จ เราก็ขึ้นเรือไปชมความงดงามของสองฝั่งคงคากันต่อ
เขาบอกว่าถ้ายังไม่มาแม่น้ำคงคา ถือว่ายังมาไม่ถึงอินเดีย ผมเองก็เห็นเช่นนั้น เห็นสายตาแห่งความศรัทธา ความหวัง ความเป็นอยู่ที่เราคิดว่าเขาทุกข์ยาก แท้จริงพวกเขาอาจจะมีความสุขอยู่ก็ได้ ได้เห็นสัจธรรมความงดงามของการเป็นมนุษย์ ที่เขาว่าสกปรกความจริงก็ไม่หนีจากบ้านเราเท่าไร ส่วนเรื่องกลิ่นนั้นไม่แย่อย่างที่จินตนาการไว้ กลางแม่น้ำคงคาดูสะอาดตามาก เคยอ่านเจอว่ามีนักวิจัยเอาน้ำที่นี่ไปศึกษา พบว่ามีสารหรือแร่ธาตุสำคัญหลายชนิด ที่ทำให้น้ำนั้นมีการปรับมวลสมดุลให้สะอาดขึ้นได้ แม้จะมีศพวัวลอยมาบ้างก็ให้มองเป็นเรื่องปกติ สิ่งเดียวที่โฟกัสคือวิวสองข้างทางและมวลหมู่วิหคโบยบิน พร้อมให้เราได้ถ่ายรูปบนหัวเรือไว้เป็นความประทับใจ
และแล้วเรือก็พาเรามาถึงจุดสำคัญ จุดที่เป็นที่สุดท้ายในชีวิตของคนที่นี่ Manikarnika Ghat คือจุดเผาศพที่ไฟไม่เคยมอดดับมากว่า 4,000 ปี เพราะมีคนตายและนำมาเผาที่นี่ทุกวัน โดยญาติ ๆ จะนำศพลงมาจุ่มที่แม่น้ำแล้วเอาขึ้นไปเผาเป็นความเชื่อที่ว่าหลังความตายจะได้ใกล้ชิดพระเจ้าและขึ้นสวรรค์ แต่มีข้อยกเว้นคือศพที่ตายทั้งกลม ศพที่โดนงูกัด จะไม่ได้รับการเผา แต่จะถูกจับถ่วงไว้ที่ก้นแม่น้ำนั่นเอง
การถ่ายรูปบริเวณพิธีเผาศพนั้น ทำได้ง่ายคือการถ่ายจากบนเรือเท่านั้น ไม่แนะนำให้เดินไปถึงข้างใน เพราะอาจจะถูกเรี่ยไรรีดไถให้ซื้อกองฟืนเพื่อบริจาค โดยเขาจะเข้ามารุมเราเลย ถ้าหลงเข้าไปแล้วอย่าคิดว่าจะได้ออกมาง่าย ๆ ทางที่ดีถ่ายจากบนเรือที่ดีสุดครับ ถือว่าเป็นการให้เกียรติคนตายและญาติด้วย
หลังจากนั้นก่อนขึ้นฝั่ง เราก็เก็บภาพรับลมไปเรื่อย ๆ
เราตัดสินใจขึ้นฝั่งที่ท่าน้ำใกล้กับวัดเนปาล เพื่อที่จะเดินเที่ยวและกลับโรงแรมด้วยตัวเอง ได้ไปในที่ที่ไม่รู้จักเส้นทาง ไม่รู้ว่าข้างหน้าต้องเจออะไร ได้ฝ่าฟันช่วยเหลือกัน 4 คน ก็สนุกดีเหมือนกันนะ
อีกจุดที่เราอยากลองมาคือ Nepal Temple โดยต้องขึ้นบันไดไป ผ่านมุมฮิป ๆ ก็อดจะถ่ายรูปเสียไม่ได้

ถ่ายรูปเสร็จก็ได้เวลาหาของกิน โดยเราเลือกร้านขาย Paneer หรือแกงต่าง ๆ ใส่เครื่องเทศและวัตถุดิบแตกต่างกันไป แต่รสชาติถือว่าผ่านเลย กินคู่กับแป้งนานเข้ากันดี เสร็จแล้วก็เดินเล่นแวะถ่ายรูปไปเรื่อย ๆ จนถึงบริเวณที่พัก
อีกสิ่งที่เราอยากทำมานาน แต่กล้า ๆ กลัว ๆ คือการตัดผมที่อินเดีย เพราะเคยเห็นตามคลิปตามรายการทีวีแล้วน่าสนใจ เพราะเขามีวิธีการที่ดุดันหนกหน่วง จริงจังในการตัดมาก เราจึงเลือกร้านที่ดูไม่เก่านัก เพื่อสุขภาพบนกบาล แล้วภารกิจก็เริ่มขึ้นที่ร้าน Bombay Hair Parlour

ผลก็คือตัดออกมาได้น่าพอใจ ชี้ทรงไหนได้แบบนั้น แม้ว่าอุปกรณ์จะเก่า และมาตรฐานสุขอนามัยจะไม่ค่อยสะอาดนักก็ตาม เอาจริง ๆ คือตัดดีกว่าร้านแพง ๆ บางแห่งในเมืองไทยเสียอีก ต้องลองสักครั้งครับ
มื้อเย็นเราก็สามารถเสาะแสวงหาร้านที่มีเมนูเนื้อสัตว์เจอจนได้ เป็นร้านสีแดงโดดเด่น อยู่ในตรอกแถวที่พักนั่นแหละ มีทั้งอาหารเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ผสมผสานกับรสชาติแขกได้อย่างลงตัว ถือว่าหายอยาก หลังจากกินมังสวิรัติมาหลายมื้อ
พอตกค่ำก็ออกไปเดินเล่นที่ตลาด ถ่ายรูปริมแม่น้ำคงคาอีกครั้งเป็นการส่งท้าย เพราะนี่เป็นคืนสุดท้ายของทริปแล้ว
ร้านนี้เราชอบกันมาก Egg Roll อร่อยมาก ๆ หลายวันไม่ได้กินไข่ โหยหาไข่มาก ข้าวผัดก็อร่อยมากกก
เอาเข้าจริง ๆ อาหารที่พาราณสีไม่แย่เลย แม้จะมีตัวเลือกไม่มาก แต่รสชาติโอเค ถูกปากคนไทย

ก่อนเดินกลับที่พัก เราเจอขบวนแห่งานแต่งงานด้วย เจ้าบ่าวขี่ม้าทรงเครื่องครบจัดเต็ม มีขบวนแห่ เสียงดนตรี ดอกไม้ไฟ บรรเลงกันกระหึ่ม ยิ่งใหญ่มาก มาอินเดียรอบนี้คือคุ้มมากจริง ๆ ครับ
เช้าวันรุ่งขึ้นก่อนไปสนามบิน พวกเรามีภารกิจสุดท้าย ที่หากไม่ลองทำคงคาใจไปชั่วชีวิต นั่นก็คือ การลงไปอาบน้ำล้างตัวสัมผัสความศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำคงคา
สิ่งที่ได้กลับมาคือการเอาชนะใจตัวเอง ลองพิสูจน์ในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า แล้วก็พบว่าบางจุดนั้นไม่สกปรกเลย ไม่มีกลิ่นเหม็นเน่าอะไรทั้งนั้น แถมน้ำยังดูสะอาดมากอย่างไม่น่าเชื่อ ชาวบ้านก็คอยช่วยแนะนำวิธีการต่าง ๆ รู้สึกประทับใจมาก นั่นอาจเป็นเพราะเราโยนความคาดหวังทิ้งไว้ตั้งแต่ที่บ้าน ก่อนมาภาพในหัวคือติดลบ พอมาเจอผู้คนน่ารัก คอยช่วยเหลือ ไม่โกง อาหารกินได้ ไม่เจอภาพอุจาดตามาก แม้ว่าจะเห็นขี้หรือศพบ้างแต่นั่นก็สัจธรรมไม่ได้หดหู่อะไรนัก ไม่มีกลิ่นเหม็น อาจเป็นเพราะเรามาหน้าหนาว แล้วก็บ้านเขาไม่ค่อยกินเนื้อสัตว์ด้วย สิ่งที่เราเจอเลยดีเกินคาด ถ้าจะมีเหตุให้ต้องไปอีก เราก็จะไม่ปฏิเสธ
พาราณสี ยังคงเป็นหมุดหมายสำคัญของโลก ที่นักเดินทางควรมาเปิดประสบการณ์ให้ตัวเองสักครั้ง เมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของพลังศรัทธา ความเชื่ออันแข็งแกร่ง พิธีกรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และผู้คนที่น่ารักเป็นมิตร เปิดใจแล้วลองมาเที่ยวดู ดีกว่าที่คิด ประทับใจกว่าที่ตาเห็นแน่นอน