เปิดมุมมองใหม่ของอินเดีย กับเมืองที่เต็มไปด้วยอารยธรรมโบราณ สิ่งปลูกสร้างทางศาสนาสุดยิ่งใหญ่น่าพิศวง ที่นี่ Ahmedabad (อาห์เมดาบัด) เมืองใหญ่แห่งแคว้นกุจราช เมืองที่มากล้นด้วยงานสถาปัตยกรรมแบบฮินดูและมุสลิม ผสมผสานกันย่างน่าดูชม แถมยังมีมรดกโลกตั้งอยู่ที่นี่ด้วย รวมถึงตลาดช้อปปิ้งเสื้อผ้าอินตะระเดียสุดตระการตา สายวินเทจ สายประวัติศาสตร์ สายสถาปัตย์ สายช้อป จะต้องรักที่นี่แน่นอน

เดสทิเนชั่นของเราส่วนใหญ่คงจะหนีไม่พ้นศาสนสถานต่าง ๆ ของชาวฮินดูที่สร้างเอาไว้เพื่อบูชาเทพเจ้า มาในรูปแบบของ Stepwell ที่มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธื์ หรือวิหารลับใต้ดินสุดพิศวง ทำให้เราได้ตื่นเต้นกับการเดินสำรวจมุมถ่ายรูป วัดฮินดูอันมีสีสันและลวดลายน่ามอง ตลอดจนอุทยานประวัติศาสตร์ ที่ประกอบด้วยมัสยิดโบราณและหลุมฝังศพของชาวมุสลิม ซึ่งแทบทุกแห่งนั้นทำให้เราต้องอุทานร้องว้าวเสียงดัง

ทริปนี้เราก็ยังเลือกบินตรงแบบ Full Service กับไทยสมายล์ อีกเช่นเคย ราคารวมทุกอย่าง เบาะที่นั่งกว้าง สะดวกสบาย ไม่อึดอัด สามารถเลือกที่นั่งได้ แอร์ฯสวย น้ำหนักกระเป๋าก็โหลดฟรีจัดหนัก 30 กก. เอาใจขาช้อปสุด ๆ รวมทั้งอาหาร ของว่าง และเครื่องดื่มต่าง ๆ พร้อมทั้งการบริการอันแสนประทับใจ ยิ้มแย้มแจ่มใสของพนักงานตลอดการเดินทาง


การจะเที่ยวที่อาห์เมดาบัดได้อย่างสะดวกรวดเร็วนั้น เราแนะนำให้ใช้บริการเช่ารถแบบมีคนขับ เขาจะมารับส่งสนามบิน พร้อมพาเราเที่ยวตามโปรแกรมที่ต้องการ โดยคิดเป็นราคาเหมา เราอยู่ที่นั่น 4 วัน ไปกัน 4 คน เขาคิด 16,500 รูปี (ไม่ถึง 8,000 บาท ตกคนละ 2,000 คุ้มมาก) ราคานี้รวมค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าที่จอดเรียบร้อยหมดแล้วด้วย ใครอยากไปแบบนี้ติดต่อได้ทาง WhatsApp (+91 99981 09961) ชื่อมิสเตอร์ซิงห์

วันแรกที่มาถึงก็เย็นแล้ว โปรแกรมคือมุ่งตรงไปยังตลาด Teen Darwaja เพื่อช้อปปิ้ง เป็นตลาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเก่า โดยยังมีกำแพงและซุ้มประตูโบราณตั้งตระหง่านโดดเด่น ที่นี่นั้นรวมสินค้าไว้มากมาย มีทุกอย่างให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเสื้อผ้า รางเท้า กระเป๋า เครื่องประดับ รวมถึงร้านอาหารต่าง ๆ ที่มีให้เลือกทั้งแบบเนื้อสัตว์และมังสวิรัติ
ส่วนผู้คน ถึงแม้ว่าอาจจะไม่เป็นมิตรเท่ากับพาราณสี นั่นเป็นเพราะว่าที่นี่นั้นเป็นเมืองที่ค่อนข้างร่ำรวยขึ้นมาหน่อย ผู้คนเลยไม่กล้าทักทาย ไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม ถือว่ายังดิบอยู่มาก ใครมาเที่ยวถือว่าเป็นของแปลก เป็นจุดเด่นจุดสนใจ ตามที่เที่ยวเราจึงยังถูกรุมเซลฟี่แทบจะตลอดเวลา ถ้าเก็บเงินค่าถ่ายคงรวยไปแล้ว


มาว่ากันถึงเรื่องที่พัก มาเยือนถิ่นประวัติศาสตร์ทั้งที ต้องหาที่พักให้ตรงคอนเซ็ปต์หน่อย คือต้องวินเทจ ดีไซน์สวยงามมีเอกลักษณ์ แต่ยังคงความสะดวกสบายเอาไว้ด้วย เราเลือกพักที่ Baghban Haveli เป็นลักชัวรี บูทีค โฮเทล ที่ถูกรีโนเวทขึ้นมาจากตึกคูหาเล็ก ๆ จนออกมาเป็นที่พักสุดเท่แบบนี้ ตรงใจมาก

ห้องนอนใหญ่ กว้างมาก ด้านล่างมีพื้นที่ให้นั่งเล่นถ่ายรูป ข้าวของเครื่องใช้เป็นงานวินเทจทั้งหมด ทำให้เป็นมุมถ่ายรูปได้อย่างน่าดึงดูด ไม่น่าเชื่อว่าที่นี่จะราคาแค่คืนละ 1,800 บาทเท่านั้น

อาห์เมดาบัด เป็นเมืองที่เราหลงรักในสถาปัตยกรรมของเขามาก เพราะนอกจากความวิจิตรงดงามแล้ว สิ่งที่น่าทึ่งคือความศรัทธาในการสร้าง บางแห่งนั้นต้องเจาะหินไต่ระดับลึกลงไปใต้ดินหลายสิบเมตร ส่วนความเก่าแก่นั้นไม่ต้องพูดถึง 500-1,200 ปีแทบทั้งสิ้น นี่เป็นอีกหมุดหมายที่จะมาแรงมาก ๆ ในปี 2020 ที่สำคัญคือแต่ละแห่งนั้นแค่เรายื่นพาสปอร์ตไทย ก็จะได้รับส่วนลดในราคาคนอินเดีย ถูกและดีงามขนาดนี้ ต้องมาแล้วล่ะ

เช้าวันที่สอง เราตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อเดินทางมายังจุดหมายแรกของเรา Hathee Singh Jain Temple วัดเก่าแก่ของศาสนาเชน ศาสนาที่ว่ากันว่าเป็นพี่น้องกับศาสนาพุทธ มีความวิจิตรงดงาม สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1848 โดยใช้หินทรายมาแกะสลักโดยมีพื้นเป็นหินอ่อน ด้านหน้าได้รับการตกแต่งอย่างประณีตด้วยโครงสร้างรูปทรงโดม มีงานกระจกที่สวยงาม พร้อมด้วยสถาปัตยกรรมที่มีสไตล์แบบ haveli

ข้างในนั้นสวยงามและได้รับการดูแลรักษาไว้อย่างดีมาก ๆ แต่ข้อควรระวังคือ เขาค่อนข้างเข้มงวดเกี่ยวกับการถ่ายภาพด้านใน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่อาจจะไม่รู้ธรรมเนียมปฏิบัติมากนัก ระวังอย่าถ่ายติดศาลเจ้าและเทวรูปเด็ดขาด


ตรงหน้าวิหารวัด ยังมีหอคอยสูงตั้งตระหง่านอยู่ มีชื่อเรียกว่า Kirti Stambh


จากนั้นเราก็ขึ้นรถออกเดินทางขึ้นเหนือไปอีก 2 ชม. ไปยังเมือง Patan อันเป็นที่ตั้งของ Rani Ki Vav หรือ Queen Stepwell มรดกโลกที่มีอายุกว่า 1,000 ปี เป็นทั้งสถานประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ที่พบปะสังสรรค์ รวมถึงเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ยามแล้ง บอกเลยว่ายิ่งใหญ่อลังการ และดูมีมนต์ขลังจนน่าขนลุก กับงานสถาปัตยกรรมแกะสลักลึกลงไปใต้ดินหลายสิบเมตร


พิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวคนไทย แค่ยื่นพาสปอร์ตที่จุดซื้อตั๋ว ก็จะได้รับการลดราคาจากราคาเต็ม 600 รูปี (300 บาท) เหลือแค่ 40 รูปี (20 บาท) เท่านั้น เป็นราคาคนอินเดียเลย ทุกที่จะเป็นแบบนี้หมด ถูกและดีสำหรับคนไทยมาก นั่นเป็นเพราะความสัมพันธ์ทางการฑูตนั่นเอง

Rani Ki Vav ทำเราอ้าปากค้างเมื่อได้เห็น เพราะที่นี่นั้นถูกสร้างด้วยการเจาะลงไปใต้ดิน มีเสาหินแกะสลักรายล้อมเต็มไปหมด บันไดขั้นสูงค่อย ๆ พาเราลงไปพบความอเมซิ่งขึ้นเรื่อย ๆ พาให้จินตนาการไปถึงยุคอดีตว่าที่นี่นั้นคงเคยยิ่งใหญ่มาก


หลังจากที่เราถ่ายรูปเก็บความประทับใจเสร็จแล้ว ก็ย้อนกลับลงมาอีก 40 นาที เพื่อมาชมความงดงามของบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์และเทวาลัยแห่งแสงอาทิตย์ที่ Sun Temple ณ เมือง Modhera


Sun Temple เป็นหนึ่งในเทวาลัยแห่งสุริยเทพของประเทศอินเดีย เป็นวัดที่มีความศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก ด้านในนั้นยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความขลังและวิจิตรงดงามของสถาปัตยกรรมเสาหินที่แกะสลักเป็นรูปเทพเจ้าต่าง ๆ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ด้านหน้าเป็น Stepwell ไล่ระดับลงไปยังบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ขนาดใหญ่ ก่อเกิดเป็นภาพที่สวยงามยิงใหญ่ มีมุมให้ได้ถ่ายรูปมากมาย


นอกจากนี้ที่นี่จะสวยงามเป็นพิเศษเมื่อเจอกับแสงแดดยามเย็น ทำให้เฉดสีของหินทรายถูกขับออกมาให้สะดุดตามากขึ้น เพิ่มสเน่ห์ให้กับ Sun Temple มีความสอดคล้องกับชื่ออย่างแท้จริง


หลังชมแสงสวย ๆ เสร็จ ก็ได้เวลากลับเข้าเมือง เราก็ไปหาของกิน ช้อปปิ้งกันที่เดิม เพราะเมื่อวานเดินไม่หมดจริง ๆ เพราะถนนมันทั้งยาวและใหญ่มาก ๆ คราวนี้ได้เสื้อผ้ามาเพียบเลย

เช้าวันต่อมา ก่อนที่เราจะเดินทางไกลลงใต้ ก็มาแวะอีกหนึ่งไฮไลท์หลักของอาห์เมดาบัด Dada Harir Vav เป็น Stepwell ลึกลับใต้ดินที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีความน่าพิศวงกว่าที่อื่น ด้วยความมืดและลึก มีแสงส่องถึงน้อย ทำให้ภายในมีความน่าค้นหา บวกกับน่าสะพรึงเล็กน้อย เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อยู่เลย ยกเว้นกระรอก 4-5 ตัว เท่านั้น

ก่อนที่เราจะลงไปสำรวจความลึกลับใต้ติน เราเดินมาที่ด้านท้ายก่อน เพื่อเจอกับสิ่งปลูกสร้างโบราณที่งดงามมาก แต่มีป้ายติดว่าห้ามถ่ายรูป ในขณะที่กำลังเศร้าอยู่นั้น ก็มีชายนิรนามเดินเลาะกำแพงตรงมาหาเราแล้วเริ่มการสนทนา
เขาบอกเบื้องหน้านี่เป็นมัสยิดโบราณ ส่วนทางด้านขวาเป็นสุสานของตระกูล Sultan Mahmud Begada มีอายุกว่า 500 ปี โดยอนุญาตให้ถ่ายรูปได้เฉพาะวิวกับสถาปัตยกรรมเท่านั้น ห้ามถ่ายคนหรือมีแบบมาโพสต์ท่า ซึ่งชายนิรนามก็ได้เปิดประตูให้เราได้ชมสุสานด้วย เขาบอกว่าภายใต้โลงศพที่ถูกก่อขึ้นมา มีศพของจริงอยู่ข้างใต้ที่ขุดลึกลงไป 10 เมตร เป็นภาพที่หาดูยาก เหมือนเราถูกดูดเข้าไปอยู่ในหนัง The Mummy ยังไงยังงั้น

และแล้วก็ถึงเวลาลงไปสำรวจ Stepwell แค่ชะโงกลงไปใจก็สั่นแล้ว เพราะมันมืดจนมองไม่เห็นพื้นว่าลึกแค่ใน เราสามารถลงบันไดวนลงไปได้เรื่อย ๆ แต่เราขอลงไปแค่สองชั้นพอ เพราะรู้สึกวังเวงและอากาศข้างล่างเย็นและชื้นมาก แต่เท่านี้ก็ได้ถ่ายรูปสวย ๆ ปัง ๆ ได้เยอะแล้ว

Stepwell นี้ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1485 โดย Dhai Harir หญิงสาวในครัวเรือนของ Mahmud Begada ตามคำจารึกภาษาเปอร์เซีย เธอคือผู้กำกับการฮาเร็มของราชวงศ์ เป็นผู้สร้างมัสยิดด้านหลังนั่น และร่างอันไร้วิญญาณของเธอก็คือ 1 ในหลุมศพในสุสานนั้น


เราเดินย้อนกลับมาด้านหน้า แล้วเดินลงบันไดไปเรื่อย ๆ รายล้อมไปด้วยเสาหินสุดอลังการ เกิดเป็นมุมที่มหัศจรรย์ ทำให้เราถ่ายรูปที่นี่ไว้เยอะมาก เป็น Stepwell ที่เราชอบมากที่สุดแล้ว


บันไดหิน Dada Harir สร้างขึ้นด้วยหินทรายในรูปแบบสถาปัตยกรรม Solanki ลึกห้าชั้น มีรูปทรงแปดเหลี่ยม สร้างขึ้นบนเสาจำนวนมากที่แกะสลักอย่างประณีต แต่ละชั้นกว้างขวางพอที่จะให้ผู้คนมาชุมนุมกันได้ มันถูกขุดลึกเพื่อเข้าถึงน้ำใต้ดินสำหรับวัดความผันผวนตามฤดูกาลของระดับน้ำฝนตลอดทั้งปี



จากนั้นเราก็เดินทางลงไปทางตะวันออกเฉียงใต้สู่เมือง Halol เพื่อเยี่ยมชมอุทยานโบราณคดี Champaner-Pavagadh ที่องค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลกแห่งแรกของอินเดีย อันประกอบด้วยมัสยิดและโบราณสถานอันเก่าแกมากมาย รวมถึงวัด ยุ้งฉาง สุสาน หลุม กำแพง ระเบียง และอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่รอบ ๆ เชิงเขา Pavagadh ซึ่งเยอะมาก ๆ ถ้าจะให้เก็บหมดต้องอยู่สัก 2-3 วัน เราเลยเลือกเด็ด ๆ มา 2 แห่ง

เริ่มด้วย Sahar ki Masjid มัสยิดแห่งนี้ใกล้กับพระราชวัง ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีแลนด์สเคปที่สวยงาม ด้านหน้าทางเข้ามีประตูโค้งที่มีโดมขนาดใหญ่ มีหอคอยคู่ ประดับประดาด้วยการฉายภาพซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ส่วนการถ่ายรูปที่นี่นั้นแนะนำให้สำรวมนิดนึง


จากนั้นเราก็นั่งรอต่อมาอีก 5 นาที เพื่อมาชม Jama Masjid เป็นหนึ่งในอนุสรณ์สถานท่ีโดดเด่นที่สุด สร้างโดยสุลต่าน มะห์มุด เบกาดา ด้วยสถาปัตยกรรมโมกุล ที่ได้รับการกล่าวขวัญว่ามาจาสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างความหมายทางศาสนาฮินดูและความชำนาญโครงสร้างของชาวมุสลิม

แค่หน้าประตูทางเข้าก็สุดยอดแล้ว ดูมีคุณค่า มีความยิ่งใหญ่สวยงาม รู้สึกคุ้มค่ามากที่นั่งรถมาไกล เพื่อได้มาเห็นสิ่งปลูกสร้างที่ละเมียดละไมขนาดนี้ แม้บางส่วนจะกลายเป็นซากปรักหักพังไปแล้วก็ตาม



Jama Masjid โดดเด่นด้วยโดมขนาดใหญ่ บ่งบอกถึงความมั่งคั่ง ถือเป็นหนึ่งในมัสยิดท่ีดีที่สุดในอินเดียตะวันตก มีการตกแต่งภายในที่หรูหรา ห้องโถงละหมาดหลายแห่งแยกจากกันเกือบ 200 เสา ห้องโถงละหมาดหลักมีโดม การตกแต่งของพื้นที่ผิวของมัสยิดและหลุมฝังศพประกอบด้วยสัญลักษณ์สาคัญของดวงอาทิตย์ เพชรกระถาง เถาวัลย์ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดอกบัว

ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นงานฝีมือที่น่าชื่นชม อันสืบสานมาจากบรรพบุรุษของพวกเขา มัสยิดแห่งนี้มีทั้งโล่ จิตรกรรมฝาผนังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสามอัน อันหนึ่งอยู่ที่ด้านบนสุดของธรรมาสน์ และอีกสองตั้งอยู่ด้านข้างพร้อมแกะสลักจากเพลงอัลกรุอาน ถือเป็นชิ้นงานระดับมาสเตอร์พีซ สมกับที่เป็นมรดกโลกจริง ๆ


เราโบกมือลา Champaner ในช่วงเย็นเพื่อกลับเข้าเมือง ก่อนเข้าที่พักเลยแวะที่ Law Market ตลาดเสื้อผ้าและของวินเทจต่าง ๆ ให้ได้เพลิดเพลินกับการช้อปปิ้ง หลังจากเดินทางไกลมาทั้งวัน


ตื่นขึ้นมาในเช้าวันสุดท้ายที่อาห์เมดาบัด เป็นวันที่ไม่เร่งรีบนัก สาย ๆ เราเดินทางไปยังวัดฮินดูแห่งแรก และมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของเมือง Shree Swaminarayan Mandir เป็นวัดที่มีความพาสเทลจัดมาก ถ่ายรูปออกมามุมไหนก็ดูดีไปหมด ถูกสร้างขึ้นตามคำแนะนำของ Swaminarayan ผู้ก่อตั้งนิกาย

ส่วนการถ่ายรูปนั้นสามารถถ่ายได้บริเวณรอบนอกเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ถ่ายด้านในโดยเด็ดขาด


ปิดท้ายทริปด้วยการเที่ยว Adalaj Stepwell บ่อน้ำขั้นบันไดที่สำคัญอีกแห่งของเมือง เที่ยว Stepwell เอาให้เอียนกันไปข้างนึงเลย ไหน ๆ มาแล้วต้องเก็บให้ครบ ยอมใจแล้วว่าที่นี่เขาขยันสร้างบ่อน้ำจริง ๆ และแต่ละแห่งก็ลึกลับซับซ้อนซะเหลือเกิน

ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ผมขอเล่าความเป็นมาของสเตปเวลล์หรือที่เรียกว่าบ่อน้ำหน่อยแล้วกัน ตามประวัติศาสตร์ สิ่งปลูกสร้างลักษณะนี้ถูกสร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 5 – 19 ถือเป็นเรื่องธรรมดาในอินเดียตะวันตก มีการสร้างมากกว่า 120 หลุม ซึ่งหลุมที่ Adalaj เป็นหลุมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่ง
สเต็ปเวลล์นั้นยังสามารถพบได้ในภูมิภาคที่แห้งแล้งของอนุทวีปอินเดียซึ่งขยายเข้าสู่ปากีสถาน สร้างเพื่อรวบรวมน้ำฝนในช่วงมรสุมตามฤดูกาล โดยพวกเขาก็ทำการตกแต่งสถาปัตยกรรมให้มีความวิจิตรงดงามยิ่งใหญ่แตกต่างกันออกไป ทำให้ปัจจุบัน Stepwell ต่าง ๆ นั้นสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาเยี่ยมชมและถ่ายรูปเก็บเป็นความประทับใจ แต่ในอดีตนั้น Stepwell เหล่านี้ ถูกแวะเวียนโดยนักเดินทางและกองคาราวานเพื่อเป็นจุดแวะพักตามเส้นทางการขนส่งสินค้า


Adalaj ถูกสร้างขึ้นในปี 1498 จากจารึกในภาษาสันสกฤตที่พบบนแผ่นหินอ่อนวางอยู่ในช่องบนชั้นหนึ่งการก่อสร้างเริ่มต้นโดย Rana Veer Singh ของราชวงศ์ Vaghela แต่เขาถูกฆ่าตายในสงคราม หลังจากนั้นกษัตริย์มุสลิมมาห์มุด เบดาดะของรัฐใกล้เคียง ก็เข้ามาสร้างต่อในรูปแบบสถาปัตยกรรมอินโด – อิสลามในปี ค.ศ. 1499


จบไปเรียบร้อย กับทริปผจญภัยในอารยธรรมโบราณ เมืองมรดกโลก Ahmedabad คุณค่าของการเดินทางที่เหล่านักเดินทางควรมาสัมผัสด้วยตาตนเองสักครั้ง รับรองว่าจะได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ ทั้งผู้คนที่เป็นเอกลักษณ์ และสถาปัตยกรรมแกะสลักหินทรายสุดตระการตา ทั้งหมดคือความเป็นอินเดีย ประเทศที่บ้าระห่ำ วุ่นวาย แต่โคตรมีสเน่ห์ แน่นอนว่าคำนิยามนี้ไม่ได้มาจากผมเป็นคนแรก แต่ใครหลายคนต่างคิดเห็นแบบนั้น ถ้าอยากรู้ว่าทำไม กดจองตั๋ว แล้วออกไปลุยกันครับ
Like this:
Like Loading...